• Aetos Bonus 50000
หน้าแรกไม่มีหมวดหมู่'กูรู'กระทุ้งธปท.'ลดดอกเบี้ย

‘กูรู’กระทุ้งธปท.’ลดดอกเบี้ย

“ศุภวุฒิ” กางข้อมูลดอกเบี้ย ไทยสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แม้เงินเฟ้อติดลบ เตือนแบงก์ชาติ เศรษฐกิจได้รับผลกระทบ มากกว่าที่คาดคิด ทั้งภาคบริโภคและการผลิต “อมรเทพ” ชี้ส่วนต่างดอกเบี้ยทำตลาดเงินผันผวน “พิพัฒน์” หวั่นเศรษฐกิจระยะสั้นไม่ห่วง เท่าระยะยาว “พชรพจน์”
ห่วงเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นเท่าก่อนโควิด “กิริฏา” ห่วงไทย ความสามารถถดถอย ฉุดศักยภาพเศรษฐกิจไทยระยะยาว
หลังจากที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ที่ระดับ 5.25-5.50% ทำให้ทั่วโลกได้ออกมา ประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยของแต่ละประเทศ เพราะเฟดส่งสัญญาณว่ายังไม่มีแผนลดอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายของเฟด
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจ การเงิน บล.เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อติดลบถือเป็นผลกระทบ ต่อเศรษฐกิจที่รุนแรงมากกว่าที่ธนาคาร แห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ไว้ เพราะกระทบกำลังซื้อที่แผ่วลง โดยเมื่อดูส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยกับอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าก่อนที่จะเกิดสถานการณ์วิกฤติโควิด-19
ทั้งนี้ เมื่อดูข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ก่อนเกิดโควิด พบว่าดอกเบี้ยนโยบายเฉลี่ย 1.7% ขณะที่เงินเฟ้อ 0.6% จะเห็นว่าดอกเบี้ยไม่สูง เท่าปัจจุบัน แต่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจพอสมควร เห็นจากภาวะเศรษฐกิจไม่เติบโตตามศักยภาพ ซึ่งดอกเบี้ยที่สูงกระทบต่อกำลังซื้อและการลงทุนของเอกชน
รวมทั้งเท่าที่เคยหารือ ธปท.ไม่ได้มองส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับต่างประเทศเป็นปัจจัยที่จะลดดอกเบี้ย ส่วนจะเกี่ยวข้องกับการที่คงดอกเบี้ยไว้ระดับสูงเพื่อรองรับวิกฤติหรือไม่ อยากจะถามกลับว่าต้องรอให้เกิดวิกฤติรุนแรงแบบเรือไททานิคชนภูเขาน้ำแข็งก่อนหรือไม่ ทั้งที่ ธปท. , รัฐบาลและประชาชนอยู่บนเรือลำเดียวกัน
“ดอกเบี้ยจะลดลงหรือไม่ ต้องไปถาม แบงก์ชาติเอง แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจชัดเจน ส่วนจะตอบเรื่องวิกฤตินั้น มองว่าแต่ละคนได้รับผลกระทบต่างกัน ถามคนมีรายได้น้อย มีหนี้สินมาก คำตอบ คือ เกิดวิกฤติ แต่ถ้าเอานิยามตามเศรษฐกิจทั่วไปก็ยังไม่เกิดวิกฤติ ผมคิดว่าเรื่องนี้อยู่ที่ถามใครและได้รับผลกระทบขนาดไหน”
นายศุภวุฒิ กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2567 ต้องดูหลายปัจจัยแม้ภาคการท่องเที่ยวมีสัญญาณการฟื้นตัว แต่ช่วงครึ่งปีแรกต้องดูกำลังซื้อ โดยเฉพาะ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวไทยว่าจะใช้จ่ายมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่การใช้จ่ายอาจไม่เต็มทีเพราะเศรษฐกิจจีนมีปัญหาภายใน
นอกจากนั้นอัตราดอกเบี้ยสูงทำให้เงินบาทแข็งค่าจึงไม่ช่วยภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่กระทบการท่องเที่ยวปี 2567 เช่นกัน
ส่วนการสร้างความมั่นใจการลงทุน ว่า รัฐบาล ต้องให้ความสำคัญการดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งหากทำให้มีนักลงทุนมาในอุตสาหกรรมหรือโครงการใหญ่จะสร้างเรื่องราวให้ไทย รวมทั้งช่วยให้มีเงินทุนไหลเข้า และความเชื่อมั่นจะทยอยเพิ่มขึ้น โดยเมื่อมีการลงทุนอุตสาหกรรม เช่น ดิจิทัล พลังงานสะอาด เซมิคอนดักเดอร์ จะเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนตราสารหนี้และตราสารทุนเพิ่มขึ้น
“5 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยไม่บวกเลย เพราะไม่มีความเชื่อมั่น ขาดความมั่นใจ แต่แก้ได้ โดยรัฐบาลต้องทำให้เห็นความแข็งแกร่งชักจูงการลงทุนต่างประเทศได้”
ส่วนต่างดอกเบี้ยทำตลาดเงินผันผวน
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า หากถามว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤติหรือไม่ วิกฤติบางส่วน ภาคเกษตร ครัวเรือนมีปัญหา แต่หลายส่วนยังเติบโต ดังนั้นเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 3.1% หากไม่รวมดิจิทัลวอลเล็ต แต่หากรวมจะขยายตัวเพิ่ม 0.5% ขณะที่ปี 2566 จะขยายตัว 2% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.4%
สำหรับความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยมาจากปัจจัยภายนอก ซึ่งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะสงครามระหว่างที่อาจทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ดังนั้นชะล่าใจไม่ได้เพราะหากมีปัญหาซัพพลายเชนจะทำการลดดอกเบี้ยของหลายประเทศทำได้ช้ากว่าคาด รวมถึงไทย
ทั้งนี้ หากดูอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐดอกเบี้ยสหรัฐอยู่ที่ 5% ขณะที่ดอกเบี้ยไทย 2.5% พบว่าส่วนต่างดอกเบี้ยค่อนข้างมากอาจเป็นปัจจัยเร่งให้ตลาดเงินตลาดทุนผันผวนมากขึ้น รวมถึงเงินทุนไหลออกโดยเฉพาะ หากตลาดคาดการณ์ว่า ว่าเฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่คาด อาจทำให้นักลงทุนหันไปถือดอลลาร์มากขึ้น ที่อาจทำให้ความผันผวนในตลาดเงินเพิ่มขึ้น
ส่วนดอกเบี้ยไทยมีโอกาสลดลงแต่อาจเห็นหลังจากสหรัฐลดดอกเบี้ยแล้ว ส่วนการเคลื่อนไหวอัตราแลกเปลี่ยนคาดว่ามีโอกาสเห็นเงินบาท แข็งค่าขึ้นในครึ่งหลังปีมาอยู่ที่ 34-35บาทต่อดอลลาร์ เพราะเงินไหลเข้าจากรายได้ท่องเที่ยว
‘เคเคพี’ ระยะยาวเศรษฐกิจไทย ‘น่าห่วง’
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยไทยผ่านจุดพีคไปแล้ว และทิศทางปรับลง ในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะครึ่งปีหลังตามการลดดอกเบี้ยของเฟด โดยจะพิจารณาดอกเบี้ยมี 3 ปัจจัยหลักที่ กนง.จะพิจารณา คือ การฟื้นตัวเศรษฐกิจ เงินเฟ้อและเสถียรภาพระบบการเงิน
ทั้งนี้ หากมีการแจกดิจิทัลวอลเล็ตจะส่งผลให้ดีมานด์ในประเทศกลับมาขยายตัวขึ้น อาจทำให้ความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยลงได้
สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะอยู่ที่ 2.9% แต่ถ้ามีดิจิทัลวอลเล็ตจะขยายตัวได้อีก 0.8% โดยหากถามว่าเศรษฐกิจไทยวันนี้เข้าสู่วิกฤติหรือไม่ วันนี้กลายเป็นประเด็นทางกฎหมายและการเมือง แต่ระยะยาวเศรษฐกิจไทยน่าห่วงเพราะหาก ไม่ทำอะไร ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ความสามารถการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยจะต่ำลงต่อเนื่องและเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่วิกฤติแน่นอน
“สิ่งสำคัญต้องเร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ต้องนำกลับมาพูดคุยอย่างจริงจังมากขึ้น ไม่งั้นเราจะเข้าสู่วิกฤติจริงๆแน่นอน วันนี้เศรษฐกิจไทยเหมือนเผชิญวิกฤติต้มกบ วันนี้เราไม่รู้สึกร้อน และเราจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ”
สิ่งที่กังวล คือภาคการคลังที่น่ากังวลมากขึ้น จากการเบิกจ่ายของภาครัฐที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ส่งผลให้ไตรมาส การเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐติดลบกว่า 40% และผลกระทบเหล่านี้จะส่งผลกระทบไปอีกหนึ่งไตรมาส คือไตรมาส 1 ปีนี้ จนถึงสิ้น มี.ค.ที่จะเริ่มเห็นการเบิกจ่ายงบภาครัฐได้ ดังนั้นเหล่านี้ถือเป็นอีกความเสี่ยงที่มีผลกระทบเศรษฐกิจไทยเช่นเดียวกัน
‘กรุงไทย’ ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวบางส่วน
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า การมองภาพเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน กรุงไทยมองเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ 3% และหากมีดิจิทัลวอลเล็ตคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพิ่มอีก 1-1.5% ขณะที่ ปีก่อนคาดว่าจะออกมาขยายตัวได้ราว 1.8-2% โดยเศรษฐกิจไทยวันนี้อยู่ภายใต้ K shaped economy ท่องเที่ยวดีขึ้น แต่ยังห่างไกลพอสมควรกับอดีต และเคเชฟ ขาล่างยังไม่กลับมาฟื้นตัวเต็มที่
หากดูภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แม้ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่หลายภาคส่วนยังไม่กลับมาสู่ระดับปกติ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวของไทย ที่ปัจจุบันกลับมาเพียง 70% เท่านั้นหากเทียบกับก่อนโควิด-19 โดยประเทศที่ฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวช้า ส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่พึ่งพาจีนค่อนข้างมาก เช่นเดียวกันไทย โดย ปีก่อนนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา 3.5 ล้านคน ขณะที่ ปีนี้คาดเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 7 ล้านคน
ดังนั้น แม้นักท่องเที่ยวเข้าไทยเพิ่มขึ้น โดยปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 32-33 ล้านคน และคาดปี 2568 เพิ่มมาเป็น 38 ล้านคน ก็ยังห่างไกลกับก่อนโควิด ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรกว่าท่องเที่ยวจะสามารถกลับมาฟื้นตัวเหมือนก่อนโควิดได้
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจโลก คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐปีนี้จะเติบโตที่ระดับ 1% และเศรษฐกิจโลกขยายตัวที่ระดับ 3% ต่ำที่สุดในรอบหลายปี ดังนั้น ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันจะทำให้โอกาสเห็นเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นยากพอสมควร จากการที่รัฐบาลทุกประเทศเริ่มเข้าสู่การรัดเข็มขัด รวมถึงของประเทศไทยเช่นเดียวกัน ดังนั้น เหล่านี้ อาจส่งผลให้เงินเฟ้อเข้าสู่ขาลงได้
‘ทีดีอาร์ไอ’ ชี้ปัจจัยเสี่ยงหลักมาจากตปท.
นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนาและผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 3% โดยปัจจัยเสี่ยงหลักมองที่ปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่แน่นอนขึ้น
ส่วนเศรษฐกิจไทยภาพรวมถือว่าฟื้นตัวได้ ดังนั้น ระยะสั้นไม่น่าห่วง เท่ากับปัญหาในระยะยาว เพราะหากเศรษฐกิจไทยไม่ปรับปรุงขีดความสามารถเพิ่มขึ้นจะทยอยสูญเสียความสามารถลดลง หากเทียบกับประเทศอื่นๆ และเศรษฐกิจไทยยังอยู่ภายใต้การเมืองโลก ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและภายใต้สังคมสูงวัย ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ ต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ให้รวดเร็วขึ้น
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

REVIEW OVERVIEW

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_imgspot_imgspot_imgspot_img
[td_block_1 custom_title="Review Brokers" limit="4" f_header_font_transform="uppercase" ajax_pagination="next_prev" m4_el="10" category_id="101" sort="oldest_posts"][td_block_1 custom_title="Last Post" limit="4" f_header_font_transform="uppercase" ajax_pagination="next_prev" m4_el="10"]