– จับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) โดยตลาดการเงินอาจผันผวนสูงขึ้น หากเฟดไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มนโยบายการเงินให้กับตลาดได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงกับทิศทางบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ
– สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ตลาดแรงงานฟื้นตัวได้ดี
– เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้น ถ้ายีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังปรับตัวขึ้นต่อ โดยภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดจะหนุนความต้องการถือเงินดอลลาร์เพื่อหลบความผันผวน ทำให้สกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ (EM FXs) รวมถึง เงินบาท อ่อนค่าลง ทั้งนี้ เงินบาทอาจอ่อนค่าได้ถึง 31.20-31.25 บาทต่อดอลลาร์ หากอ่อนค่าหลุดระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์
– กรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 30.50-31.00 บาท/ดอลลาร์
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
– ฝั่งสหรัฐฯ – การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯแข็งแกร่งขึ้นต่อเนื่อง หนุนโดยการเร่งแจกจ่ายวัคซีนและแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ วงเงินกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ สะท้อนผ่าน ภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยดัชนีภาคการผลิตของเฟดนิวยอร์ก (NY Empire Manufacturing) จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 15 จุด ในเดือนมีนาคม ขณะที่ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนกุมภาพันธ์ อาจชะลอตัวลงเล็กน้อย -0.5% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่หนาวจัด ทั้งนี้ ตลาดมองว่ายอดค้าปลีกจะกลับมาเร่งตัวขึ้นในเดือนมีนาคม หนุนโดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจดังกล่าว อาจไม่ได้ส่งผลให้เฟดปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินทั้งดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องในการประชุมครั้งนี้ อย่างไรก็ดี เรามองว่า เฟดอาจปรับประมาณการเศรษฐกิจให้ดีขึ้นจากเดือนธันวาม โดยมีปัจจัยสำคัญ คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ทั้งนี้ เฟดอาจเน้นย้ำว่าไม่ได้กังวลต่อแนวโน้มเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น เพราะตลาดแรงงานยังไม่ได้ฟื้นตัวแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี ต้องระวังความผันผวนในตลาดบอนด์ที่อาจเกิดขึ้น หากตลาดมองว่า เฟดอาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วกว่าคาด ซึ่งจะอาจทำให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อได้
– ฝั่งยุโรป – การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเยอรมนีที่ดีขึ้นต่อเนื่อง จะช่วยให้ภาคธุรกิจมีความมั่นใจต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น สะท้อนผ่าน ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (ZEW Survey) เดือนมีนาคม ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 74.0 จุด จาก 71.2 จุด ในเดือนก่อนหน้า ทว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจยุโรป อาจแย่กว่าที่ตลาดประเมินไว้ หลังการระบาดของ COVID-19 ในหลายประเทศยังมีความรุนแรงอยู่
– ฝั่งเอเชีย – เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ สะท้อนผ่าน ยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Investment) ที่จะโตถึง 40%y/y ส่วน ยอดผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) และ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) จะขยายตัวราว 32%y/y แม้ว่า เศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ทว่า ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย อาจฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น อินโดนีเซียที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ทำให้ ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.50% เช่นเดียวกับ ฝั่งธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.10% พร้อมคงเป้าหมายยีลด์ 10ปี ญี่ปุ่นไว้ที่ 0.00%+/-0.20% ตามเดิม