ประเด็นร้อนในหมู่นักเทรดคริปโตฯ อยู่ตอนนี้ หนีไม่พ้นเรื่องการเสียภาษีคริปโตฯ หรือ การเสียภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกระบุไว้ว่า หากมีการขายแล้วมีกำไร ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา40(4)(ฌ)ซึ่งผู้จ่ายเงินได้(ผู้ซื้อ) มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15%
จนกลายเป็นหัวข้อที่นักเทรดจำนวนมากยังสับสน โดยเฉพาะในยุคที่เงินทองกว่าจะหาได้นั้นแสนลำบาก ผู้คนจึงมีวิธีหาเงินรูปแบบใหม่ โดยลงทุนกับสินทรัพย์ดิจิทัล อย่าง “คริปโตเคอร์เรนซี” (Cryptocurrency) หรือที่นิยมเรียกว่า คริปโตฯ หนึ่งในสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตอนนี้
และต้องยอมรับว่าตลาดคริปโตฯ มาแรงเหลือเกิน บวกกับกระแส “ภาษีคริปโตฯ” ยิ่งทำให้ความร้อนแรงของการลงทุนรูปแบบใหม่นี้โด่งดังเพิ่มขึ้น จนนักเทรดคริปโตฯ เกิดคำถามมากมาย และตามหาข้อมูลเกี่ยวกับภาษีคริปโตฯ และวิธีการคำนวณภาษีคริปโตฯ รวมถึงวิธีการเสียภาษีคริปโตฯ ต้องทำอย่างไร
มารู้จักโลกของ “คริปโตเคอร์เรนซี”
“คริปโตเคอร์เรนซี” คือสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง เนื่องจากเกิดขึ้นมาเพื่อใช้แลกเปลี่ยนเสมือนเป็นเงิน แต่ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้เหมือนธนบัตรหรือเหรียญ ดังนั้น จึงจัดว่าเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี เป็นทรัพย์สินดิจิทัล ที่สามารถซื้อขาย แลกเปลี่ยน และสะสมได้
คริปโตฯ ได้รับการออกแบบมาเพื่อเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน โดยใช้วิทยาการเข้ารหัส หรือรหัสลับ (Cryptography) เพื่อการป้องกันและยืนยันธุรกรรม และยังใช้เพื่อเข้ารหัสควบคุมการผลิตคริปโตฯ บางประเภทด้วย ซึ่งโดยพื้นฐานคริปโตฯ จะมีข้อจำกัดการเข้าถึงฐานข้อมูล ทำให้การเปลี่ยนแปลงข้อมูลเป็นไปได้ยาก ถ้าหากยังไม่ได้กรอกเงื่อนไขเฉพาะ ทำให้สามารถซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน และสะสมคริปโตฯ ได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัย และปลอมแปลงได้ยาก
และนอกจากเหรียญคริปโตฯ จะเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว ยังมีเหรียญอื่นๆ ที่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลอีกมากมาย เช่น “โทเคนดิจิทัล (Digital Token)” ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันเช่นกัน
Bitcoin สกุลเงินยอดนิยมที่สุดในโลกคริปโตฯ
Bitcoin เป็นสกุลเงินดิจิทัลในโลกของคริปโตฯ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และมีมูลค่าสูงที่สุดในตลาดคริปโตฯ เนื่องจากเป็นสกุลเงินดิจิทัลสกุลแรกที่เกิดขึ้นบนโลก เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่เหมาะแก่การสะสม เนื่องจากมีการพิสูจน์แล้วว่า Bitcoin เป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนดีที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับหุ้นและสินทรัพย์ต่างๆ
นอกเหนือจาก Bitcoin แล้ว ยังมีสกุลเงินในโลกของคริปโตฯ อีกมากกว่า 5,000 สกุลเงิน โดยสกุลอื่นๆ เหล่านี้เรียกรวมกันว่า อัลท์คอยน์ (Altcoin) ซึ่งย่อมาจาก Alternative Coin
ในส่วนของสกุลเงิน Bitcoin การได้มานั้น มีวิธีอยู่หลักๆ 2 แบบ คือ
1. การขุด Bitcoin โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ขุด Bitcoin ซึ่งจะมีต้นทุนในส่วนของค่าเครื่อง ค่าไฟฟ้าในการขุด
2. การเทรด Bitcoin เป็นการซื้อขาย Bitcoin ที่ต้องฝากเงินเข้าไปไว้ในกระเป๋าเงินดิจิทัลเพื่อเทรด คล้ายกับการเล่นหุ้น สามารถสมัครได้ง่ายตามเว็บเทรดที่ให้บริการทั่วไป ซึ่งปัจจุบันมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ควรเลือกเว็บเทรดที่ ก.ล.ต. รับรอง เช่น Bitkub
กำไรจากการเทรดคริปโตฯ ต้องเสีย ภาษีคริปโตฯ 15%
รูปแบบการเสียภาษีที่มาจากกำไรในการลงทุนด้านสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น นักลงทุนที่มีกำไรจากการซื้อขายเหรียญคริปโตฯ หรือลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร จะถือเป็น เงินได้ตามมาตรา 40(4)(ฌ) เงินได้จากผลประโยชน์/กำไร ที่ได้รับจากการโอนคริปโตฯ หรือโทเคนดิจิทัล ซึ่งนักลงทุนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15%
และแม้ว่าจะถูกหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว 15% แต่ยังคงต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาคำนวณรวมกับเงินได้อื่นๆ เพื่อยื่นแบบเสียภาษีบุคคลธรรมดาประจำปี ตามปีที่ได้กำไรด้วย
หากเป็นกำไรในรูปแบบนิติบุคคล กิจการต้องนำกำไรไปรวมคำนวณภาษีประจำปีด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกเรียกตรวจสอบย้อนหลัง
หลักการ “เสียภาษีคริปโตฯ”
หลักการเสียภาษีตามกฎหมายกำหนด มีดังนี้
หากเทรดสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ สินทรัพย์ดิจิทัลที่ถือไว้มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ หรือส่วนแบ่งกำไรให้แก่ผู้ถือ เงินได้ส่วนนี้ จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% จากกำไรที่เกิดขึ้นก่อนมีการจ่ายเงินให้นักลงทุน
วิธีการคำนวณภาษีคริปโตฯ และ เสีย “ภาษีคริปโตฯ”
กำไรที่ได้รับจากการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล หลังจากถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว 15% ถือเป็นการชำระภาษีล่วงหน้าเท่านั้น นักลงทุนจะต้องนำมาคำนวณรวมกับเงินได้อื่นๆ เพื่อยื่นภาษีประจำปีโดยมี
วิธีการคำนวณภาษีคริปโตฯ ดังนี้
ตัวอย่างเช่น
นักลงทุนขาย Bitcoin ได้กำไร 150,000 บาท หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% = 22,500 บาท จะเหลือกำไรที่ได้รับ 127,000 บาท
จากนั้นเมื่อต้องยื่นภาษีปลายปี หากมีเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว อยู่ที่ 600,000 ให้นำกำไรจากการขาย Bitcoin มารวมกับเงินได้สุทธิ จะได้เท่ากับ 600,000+150,000 = 750,000 บาท แล้วนำมาเทียบตารางอัตราภาษีก้าวหน้า
ภาษีที่ต้องเสียคือ 72,500 (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา) – 22,500 (ภาษีหัก ณ ที่จ่าย) = 50,000 บาท
รู้ได้อย่างไรว่า มีกำไรคริปโตฯ เท่าไหร่
ในทางปฏิบัติ นั้น การคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ยังเป็นไปได้ยากเพราะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าต้นทุนตอนซื้อที่แท้จริงเท่าไร โดยเฉพาะนักลงทุนประเภทที่ได้รับคริปโตฯ มาจากการขุดเอง จะเป็นการยากมากที่จะคิดจำนวนกำไรที่จะนำมาคำนวณภาษี รวมถึงนักลงทุนจะไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายจากต้นทุนการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อื่นๆที่จำเป็นในการขุด รวมถึงค่าไฟฟ้าได้เลย
เนื่องจากข้อจำกัดที่กล่าวมาด้านบน จึงทำให้เว็บเทรดยังไม่สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายในส่วนของกำไรที่ได้จากการขายคริปโตฯได้ ยกเว้นกรณีที่มีรายได้จากการแนะนำเพื่อนเกิน 1,000 บาท/เดือน สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ และมีเอกสารการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับนักลงทุน
ดังนั้นในปัจจุบัน นักลงทุนหรือนักเทรดต้องคำนวณภาพรวมการซื้อขายว่าได้กำไรหรือขาดทุนด้วยตัวเอง
และหากได้กำไรก็ต้องยื่นและเสียภาษีอย่างถูกต้องด้วยตัวเอง เพื่อป้องกันการถูกเรียกตรวจสอบย้อนหลัง
อ้างอิง : by Inflow Accounting