ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีพัฒนาการเงินเฟ้อที่น่าสนใจ โดยจากกราฟจะเห็นได้ว่าเงินเฟ้อไทย (เส้นสีส้ม) มีลักษณะคล้ายกับเงินเฟ้อของกลุ่มประเทศเอเชีย (เส้นสีฟ้า)
นั่นคือ ไม่ได้สูงเท่าเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศอื่น ๆ และมีกระบวนการปรับลดลงของเงินเฟ้อที่ค่อนข้างเร็วกว่ากลุ่มประเทศอื่น
จึงนำไปสู่คำถามสำคัญคือ “ทำไมเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศเอเชียรวมถึงไทยจึงปรับลดลงค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับต่างประเทศ?” โดยคณะวิจัยพบว่า สาเหตุมาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
1) แรงกดดันด้านอุปสงค์ต่อเงินเฟ้อเอเชียในปีที่ผ่านมาค่อนข้างจำกัด ส่งผลให้เงินเฟ้อไม่ยืดเยื้อ และสามารถทยอยปรับลดลงได้ตามการคลี่คลายของปัญหาด้านอุปทานโลก
2) แรงกดดันด้านอุปทานในเอเชียที่บรรเทาลงจากมาตรการช่วยเหลือด้านราคาพลังงานของภาครัฐเพื่อช่วยดูแลค่าครองชีพของครัวเรือน ซึ่งช่วยลดความรุนแรงและความผันผวนที่เพิ่มขึ้นของราคาพลังงานในประเทศ เนื่องจากราคาพลังงานเป็นต้นทุนสำคัญของภาคการผลิต จึงช่วยให้ผู้ประกอบการบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น และลดการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นผ่านการขึ้นราคาสินค้าและบริการ
3) การส่งผ่านของค่าเงินต่ออัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศเอเชียอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอื่น และสำหรับไทย เงินบาทที่อ่อนค่าลง 1% ต่อดอลลาร์ สรอ. ส่งผลให้ระดับราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 0.06% เท่านั้น
4) ภาวะตลาดแรงงานเอเชียในช่วงปีที่ผ่านมาไม่ได้สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อมากนัก เนื่องจากมีอุปทานแรงงานที่ยืดหยุ่นจากอุปทานแรงงานส่วนเพิ่มทั้งแรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ มีอำนาจการต่อรองค่าจ้างที่ค่อนข้างต่ำ และกลุ่มประเทศเอเชียไม่มีกลไกการปรับค่าจ้างตามอัตราเงินเฟ้อแบบอัตโนมัติ