STARK เอฟเฟ็กต์ตลาดทุนป่วน วิกฤตความเชื่อมั่น-ธรรมาภิบาลบริษัทจดทะเบียนกระทบ “ต้นทุน” ระดมทุนภาคธุรกิจดอกเบี้ยหุ้นกู้ขยับขึ้นทุกเรตติ้ง “หุ้นกู้ไฮยีลด์” วิกฤตตลาดปิดเริ่มเจอปัญหาขายไม่ออก นักลงทุนระแวงซ้ำรอย STARK ตลท. ประกาศยกเครื่องเกณฑ์กำกับ/เข้มบริษัท Backdoor Listing เข้าตลาดหุ้น ขณะที่วงการบี้ ก.ล.ต.งัดมาตรการลงโทษบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชี ลุ้นระทึก “หุ้นกู้” กลุ่มเสี่ยงสูง Non-rated จ่อคิวเปิดขายอีกเพียบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ที่พบว่ามีการตกแต่งบัญชีสร้างตัวเลขยอดขายปลอม ลูกหนี้ปลอม สต๊อกปลอมและทำการโยกย้ายเงินออกจากบริษัทจนทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อย ผู้ถือหุ้นกู้ จนถึงกองทุนรวมและสถาบันการเงินเจ้าหนี้เกิดความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท
ล่าสุดทาง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยว่า เมื่อ 21 มิ.ย. 2566 ทางดีเอสไอได้อนุมัติให้รับกรณีการตรวจพบความผิดปกติของงบการเงินของ STARK เป็นคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 โดยการสืบสวนเบื้องต้นมีมูลเชื่อว่ามีการกระทำผิดของกรรมการ หรือผู้บริหาร หรือบุคคลอื่นใด เกิดขึ้น ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งพฤติการณ์มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุนและระบบเศรษฐกิจการคลังของประเทศ
วิกฤตเชื่อมั่น “ต้นทุน” กู้พุ่ง
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณี บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) สร้างความเสียหายเยอะทั้งนักลงทุนรายย่อย นักลงทุนสถาบัน รวมถึงธนาคารเจ้าหนี้ ซึ่งเคสนี้เป็นเรื่องของการตกแต่บัญชีสร้างตัวเลขเทียม ถือเป็นความผิดที่รุนแรงมาก ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจาก กลไกการตรวจสอบ การคานอำนาจของ ผู้บริหาร/ฝ่ายตรวจสอบฝ่ายใน, คณะกรรมการ และผู้ตรวจสอบบัญชี ไม่ฟังก์ชั่นไม่ได้ทำหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพ
“กลไกของตลาดทุนทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานเรื่องความเชื่อมั่น เชื่อใจว่าข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยออกมา เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ทันทีที่นักลงทุนตั้งคำถามกับตัวเลขเหล่านี้ ก็จะเป็นไปไม่ได้เลยที่นักลงทุนจะลงทุนได้ด้วยความสบายใจ แต่เคสที่เกิดขึ้นนี้ทั้งผู้บริหาร กรรมการตรวจสอบ และผู้ตรวจสอบบัญชี mistrust หมดเลยทั้ง 3 ระดับ ซึ่งอันนี้เรื่องใหญ่มาก กลไกการออกแบบเรื่องธรรมาภิบาลของบริษัทมีปัญหาแน่ ๆ”ดร.พิพัฒน์กล่าว
ดร.พิพัฒน์กล่าวเพิ่มเติมในรายการ “MONEY CHAT” ว่า จากกรณีของ STARK ถือเป็นบทเรียนสำคัญ ทำให้ตลาดเกิดการระแวงไม่เชื่อมั่นข้อมูล ตัวเลขงบการเงินบริษัทจดทะเบียนที่เปิดเผยออกมา ว่าจะเป็นแบบ STARK ได้หรือไม่ เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ก็จะทำให้ต้นทุนต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
ถ้าระบบการเงินไม่สามารถเชื่อข้อมูลที่บริษัทมีการสอบทานและเปิดเผยออกมา ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเมื่อนักวิเคราะห์ หรือบริษัทจัดอันดับเครดิตเรตติ้ง ผู้จัดการกองทุน ที่อยู่วงนอกไม่สามารถเชื่อถือข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยได้ ก็จะทำให้มีการบวกเพิ่มค่าธรรมเนียมความเสี่ยงเข้าไป จะทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น ไม่ว่าบริษัทจะขอกู้แบงก์ บริษัทจะระดมทุนในรูปแบบต่าง ๆ เพราะไม่สามารถเชื่อถือข้อมูลได้ 100% ก็จะต้องตั้งคำถามตลอดเวลาก็ทำให้ต้นทุนการเงินและตลาดได้รับผลกระทบพอสมควร
เอฟเฟ็กต์ดอกเบี้ยหุ้นกู้แพง
นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายทีม Investment and Markets Research สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลกระทบจากกรณีของ STARK ที่พบการทุจริตและมีการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้เกือบหมื่นล้านบาท
ทำให้ตอนนี้กระบวนการสกรีนของการรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ทั้งระบบเกิดปัญหาแล้วจากความเชื่อมั่นของนักลงทุน ดังนั้นทุกบริษัทผู้ออกหุ้นกู้จะต้องจ่ายต้นทุนดอกเบี้ยแพงขึ้นหมด และมองว่าค่อนข้างแฟร์ถ้าธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เป็นผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้จะคิดค่าบริการเพิ่ม เพราะการทำธุรกรรม due diligence มีความซับซ้อนมากขึ้น จึงต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดความเสี่ยงที่ตรวจสอบไม่ได้
โดยต้นทุนการกู้ผ่านการออกหุ้นกู้เทียบจากสิ้นไตรมาส 1 จนถึง 21 มิ.ย. 2566 พบว่าระดับเรตติ้ง AAA รุ่นอายุ 3 ปี ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 0.24% มาอยู่ที่ 2.74%, อายุ 5 ปี เพิ่มขึ้น 0.27% มาอยู่ที่ 3.03% และระดับเรตติ้ง A- รุ่นอายุ 3 ปี เพิ่มขึ้น 0.27% มาอยู่ที่ 3.29%, รุ่นอายุ 5 ปี เพิ่มขึ้น 0.33% มาอยู่ที่ 3.69% และระดับเรตติ้ง BBB+ รุ่นอายุ 1 ปี เพิ่มขึ้น 0.12% มาอยู่ที่ 3.57%, รุ่นอายุ 2 ปี เพิ่มขึ้น 0.13% มาอยู่ที่ 3.92%, รุ่นอายุ 3 ปี เพิ่มขึ้น 0.09% มาอยู่ที่ 4.14%
หุ้นกู้ไฮยีลด์วิกฤต “ตลาดปิด”
นายสงวนกล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์การออกหุ้นกู้ พบว่ากลุ่มระดับลงทุน (investment grade) อาจจะโดนเรื่องของเซนติเมนต์บ้าง แต่ยังไม่มีปัญหามาก แต่ที่น่ากังวลคือกลุ่มไฮยีลด์ (เครดิตเรตติ้งต่ำ ความเสี่ยงสูง และผลตอบแทนสูง) ตลาดเริ่มปิด มีผลกระทบเต็ม ๆ เพราะเห็นสัญญาณขายหุ้นกู้ไม่หมด เช่น มีบางบริษัทต้องการโรลโอเวอร์ 100% แต่ขายหุ้นกู้ใหม่ได้แค่ 50% นอกจากนี้เดิมที่หน่วยงานกำกับมีความพยายามจะจัดตั้งกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นกู้เสี่ยงสูง แต่สุดท้ายจัดตั้งไม่สำเร็จแสดงให้เห็นว่ากำลังซื้อถดถอย
ปัจจุบันหุ้นกู้ไฮยีลด์จัดจำหน่ายหลักโดยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซึ่งตอนนี้เห็นสัญญาณ บล.บางรายเข้มงวดในการสกรีนรับประกันการจัดจำหน่ายมากขึ้น และมีอัตราส่วนในการปฏิเสธลูกค้าที่สูงขึ้นด้วย เพราะทุกบริษัทต้องตรวจสอบมากขึ้น จึงไม่อยากจะแบกรับความเสี่ยงไว้มาก คือมีการสกรีนคล้ายแบงก์มากขึ้น ส่วน บล.อีกกลุ่มที่เน้นจัดจำหน่ายหุ้นกู้เสี่ยงสูงอยู่แล้ว เพราะได้ผลตอบแทนจากค่าธรรมเนียมที่สูง แต่กลุ่มนี้เมื่อเม็ดเงินจากนักลงทุนชะลอตัว การขายก็ทำได้ไม่ง่ายแล้ว
ฟื้นฟู “ธรรมาภิบาล” ตลาดทุน
นายสงวนกล่าวว่า นอกจากนี้นักลงทุนก็เริ่มกลับไปให้ความสนใจกับการพิจารณารายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้มากกว่า ที่จะพิจารณางบการเงินอย่างเดียวบ้างแล้ว คือพูดง่าย ๆ กลับมาวิเคราะห์เหมือนในยุคอดีต ที่ดูแคแร็กเตอร์หรือตัวเจ้าของ ดูโปรไฟล์ประวัติบริษัท เพราะตอนนี้งบการเงินกำลังถูกตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือ ฉะนั้นเรื่องธรรมาภิบาล (governance) จึงกลับมาเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในยุคนี้
“การตรวจสอบของเราชี้ให้เห็นว่ากรณี STARK ซ้ำรอย บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ซึ่งผ่านไปแล้ว 4 ปี ทำอะไรไม่ได้เลย และเคส STARK ก็มีขนาดใหญ่กว่า มีผลกระทบกว้างไกลกว่าด้วย ตอนนี้ถ้าคิดเม็ดเงินความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่ประมาณ 60,000 หมื่นล้านบาท คือจากมาร์เก็ตแคปของหุ้นที่หายไปกว่า 50,000 ล้านบาท และพอร์ตหุ้นกู้อีกเกือบ 10,000 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าวัดความเสียหายที่ไม่ใช่ตัวเลขมหาศาลกว่านั้นมาก น่าจะเป็นเคสทุจริตที่ใหญ่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของไทย” นายสงวนกล่าว
บี้ ก.ล.ต.ขึ้นบัญชีดำ Big4
นายสงวนกล่าวว่า อยากเสนอให้ผู้เสียหายฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้อง STARK ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ตรวจสอบบัญชี (auditor) ซึ่งไม่ได้มุ่งร้าย แต่จำเป็นต้องหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา หากยกระดับขึ้นมาเป็นคดีความได้ ทุกคนจะมีการตระหนักรู้ โดยเฉพาะผู้ตรวจสอบบัญชีที่ปั้มงบการเงินที่ไม่ถูกต้องออกมา เพราะจะส่งผลตามมา ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ นักลงทุน สถาบันการเงิน เพราะต้องยึดตัวเลขจากงบการเงินดังกล่าว ถามว่าทำเพื่ออะไร ทำเพื่อให้ตลาดทุนในยุคถัดไป ๆ ไม่ซ้ำรอยขึ้นอีก
แหล่งข่าวในแวดวงตลาดทุนกล่าวว่า กรณีนี้สำนักงาน ก.ล.ต.ต้องดำเนินการทางกฎหมายอย่างเร่งด่วนและเคร่งครัดตลอดทั้งเส้นทาง นอกจากในส่วนของผู้บริหาร กรรมการบริษัท STARK แล้ว ในส่วนของผู้ตรวจสอบบัญชี ต้องไม่ใช่แค่การลงโทษ “ผู้ตรวจสอบบัญชี” แต่ต้องการมีมาตรการลงโทษไปถึง “บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชี” ด้วย เพราะถือเป็นการรับรองโดยบริษัท
ซึ่งผู้สอบบัญชีของ STARK คือบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด เป็นบริษัท big4 ก็มีส่วนทำให้นักลงทุนยอมรับเชื่อถือมากขึ้น ดังนั้น ก.ล.ต.ควรจะมีมาตรการลงโทษบริษัทผู้ตรวจสอบด้วย เช่น การขึ้นแบล็กลิสต์บริษัทผู้สอบบัญชี เพื่อเป็นมาตรการที่จะทำให้บริษัทมีความเคร่งครัดของกระบวนการทำงานภายในมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยเห็นว่าสำนักงาน ก.ล.ต.ดำเนินการอะไรกับบริษัทตรวจสอบบัญชี ทั้งที่ปัญหามีมาโดยตลอด
หุ้นกู้เพิ่มค่าฟีแลกความเสี่ยง
แหล่งข่าวผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้และผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ของ STARK กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากนโยบายของบริษัทในการรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นกู้และเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ จะรับเฉพาะบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีเรตติ้ง BBB+ ขึ้นไป ซึ่งตอนนั้นหุ้นกู้ STARK มีเรตติ้ง BBB+ พอดี และเป็น บจ.ใหญ่ที่ติดรายชื่ออยู่ใน SET100 และยังได้รับวงเงินสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นสะท้อนนโยบายของบริษัทค่อนข้างมีการสกรีนอยู่พอสมควร
แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ต้องทบทวนการทำงาน แม้บริษัทสกรีนผ่านแล้ว แต่คงต้องมีการคิดค่าบริการเพิ่ม ตามอันดับความน่าเชื่อถือ และความเสี่ยงอื่น ๆ เพื่อแลกกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นกับ STARK สร้างความวุ่นวายไม่คุ้มอย่างมากกับค่าบริการที่กำหนดไว้ ดังนั้นต่อไปอาจทำให้บริษัทจดทะเบียนที่มีเรตติ้งระหว่าง BBB+ หรือ A- โดนปรับขึ้นราคาค่าบริการเพิ่ม
กระทบเชื่อมั่นตลาดหุ้น
นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซียไซรัส จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและรับประกันการขายหุ้นไอพีโอ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณี STARK มีผลในเชิงจิตวิทยาต่อนักลงทุนที่ขาดความมั่นใจต่อหุ้นทั้งตลาด
รวมถึงการระดมทุนขายหุ้นไอพีโอด้วย เพราะไม่รู้ว่าจะมีหุ้นตัวไหนอีกบ้างที่มีลักษณะคล้ายกับ STARK และประกอบกับโดนกดดันจากภาวะตลาดหุ้นที่ไม่ดีอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดเรื่อง STARK ด้วย
ขณะที่เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ (บอร์ด ตลท.) มีมติเห็นชอบแนวทางปรับปรุงหลักเกณฑ์สำหรับบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai ตามแผนกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2566-2568) ในการเพิ่มโอกาสการระดมทุนสำหรับธุรกิจทุกขนาด และเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดทุน รวมทั้งการยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนให้เข้มข้นมากขึ้น โดยปรับปรุงคุณสมบัติบริษัทจดทะเบียนตามเกณฑ์รับหลักทรัพย์ใน SET และ mai ซึ่งจะเพิ่มกำไรเพื่อรองรับบริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไรที่สูงขึ้น และเพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้น (equity)
อีกทั้งเพิ่มความเข้มข้นในการพิจารณาคุณสมบัติบริษัท backdoor listing โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะร่วมพิจารณาคุณสมบัติของบริษัทเช่นเดียวกับกรณี IPO เพื่อให้บริษัทที่เข้าจดทะเบียนไม่ว่าด้วยช่องทางใดมีคุณภาพใกล้เคียงกัน
จับตาหุ้นกู้เสี่ยงสูงเปิดขาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลจากสำนักงาน ก.ล.ต.พบว่ายังมีบริษัทที่เตรียมเสนอขายหุ้นกู้จำนวนมาก ซึ่งมีทั้งบริษัทขนาดใหญ่และเล็ก โดย “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลของบริษัทที่เตรียมจะเปิดขายหุ้นกู้ไฮยีลด์ คือต่ำกว่า investment grade ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (nonrated) เรียกว่าความเสี่ยงสูง ที่มาพร้อมกับผลตอบแทนสูงที่จะเปิดขายในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ ประกอบด้วย
1.บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรับเหมาติดตั้งงานระบบวศิวกรรมสำหรับอาคาร หุ้นกู้อายุ 2 ปี ดอกเบี้ย 6.50% ต่อปี วงเงินเสนอขาย 600 ล้านบาท ช่วงวันที่ 22-26 มิ.ย. 2566 (nonrated)
2.บริษัท สิวารมณ์ เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวราบ วงเงินเสนอขาย 600 ล้านบาท รุ่นอายุ 1 ปี 9 เดือน จ่ายดอกเบี้ย 7% ต่อปี และรุ่นอายุ 2 ปี 6 เดือน จ่ายดอกเบี้ย 7.35% ต่อปี เสนอขายช่วงวันที่ 26-28 มิ.ย. 2566 (nonrated)
3.บริษัท ชีวาทัย จำกัด (มหาชน) ธรุกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รุ่นอายุ 2 ปี จ่ายดอกเบี้ย 6.90% ต่อปี วงเงินเสนอขาย 500 ล้านบาท เสนอขายช่วงวันที่ 30 มิ.ย.-4 ก.ค. 2566 (nonrated)
4.บริษัท ทาคูนิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ธุรกิจจัดจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว รุ่นอายุ 2 ปี จ่ายดอกเบี้ย 7% ต่อปี วงเงิน 500 ล้านบาท เสนอขายวันที่ 3-5 ก.ค. 2566 (nonrated)
5.บริษัท เจ้าพระยามหานคร จำกัด (มหาชน) ธรุกิจพัฒนาอสังริมทรัพย์ รุ่นอายุ 2 ปี จ่ายดอกเบี้ย 7.30% ต่อปี วงเงิน 440 ล้านบาท เสนอขายวันที่ 10-12 ก.ค. 2566 (nonrated)
6.บริษัท เอสจีเอฟ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อและจำนำทะเบียน รุ่นอายุ 1 ปี 10 เดือน 16 วัน จ่ายดอกเบี้ย 6.80% ต่อปี วงเงิน 500 ล้านบาท เสนอขายช่วงวันที่ 11-13 ก.ค. 2566 (nonrated)
7.บริษัท สบาย คอนเน็กซ์ เทค จำกัด (มหาชน) ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องกรองน้ำแบบขายตรง รุ่นอายุ 2 ปี 6 เดือน จ่ายดอกเบี้ย 6.60% ต่อปี วงเงิน 500 ล้านบาท เสนอขายช่วงวันที่ 24-26 ก.ค. 2566 (nonrated)
8.บริษัท ธีระมงคล อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าส่องสว่าง รุ่นอายุ 2 ปี จ่ายดอกเบี้ย 7.25% ต่อปี เสนอขายช่วงวันที่ 24-26 ก.ค. 2566 (nonrated)
9.บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รุ่นอายุ 2 ปี จ่ายดอกเบี้ย 6.70% ต่อปี วงเงินเสนอขาย 700 ล้านบาท เสนอขายช่วงวันที่ 26-28 มิ.ย. 2566 ทริสเรตติ้งจัดอันดับเครดิต BB+
10.บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจโรงแรมและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 3 ชุด วงเงินเสนอขายรวม 1,300 ล้านบาท รุ่นอายุ 2 ปี จ่ายดอกเบี้ย 7.25% ต่อปี และรุ่นอายุ 2 ปี จ่ายดอกเบี้ย 7.40% ต่อปี และรุ่นอายุ 1 ปี 3 เดือน จ่ายดอกเบี้ย 6.90% ต่อปี เสนอขายช่วงวันที่ 11-13 ก.ค. 2566 ทริสเรตติ้งจัดอันดับเครดิต BB-
Source: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์