เศรษฐกิจไทย พึ่งพาการส่งออกสินค้าและบริการคิดเป็นสัดส่วน 65.8% ของจีดีพีในปี 2022 เปรียบเทียบกับโลก ซึ่งการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนเพียง 30.6% ของจีดีพีโลกในปีเดียวกัน แปลว่า หากไทยยังต้องการฟื้นตัวแบบที่เคยทำมา ก็จะต้องขับเคลื่อนโดยการส่งออกทั้งสินค้าและบริการ
แต่ในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมานั้น เราจะรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ไม่ดีมากนัก ซึ่งตัวเลขการขยายตัวของจีดีพี ก็ชะลอตังลงอย่างเห็นได้ชัดจริงๆ เช่น ในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 คือปี 2014-2019 นั้น จีดีพีโลกขยายตัวเฉลี่ยปีละ 3.1% ในช่วงเดียวกัน จีดีพีไทยขยายตัวเฉลี่ยปีละ 3.0% (ในช่วงปีก่อนหน้าคือปี 2000-2009 นั้น จีดีพีไทยขยายตัวเฉลี่ย 4.3% ต่อปี)
ไอเอ็มเอฟประเมินว่า จีดีพีโลกก็จะขยายตัวเพียง 3% ต่อปีในปี 2023 และ 2024 (ลดลงจากการขยายตัว 3.5% ในปี 2022 ที่ผ่านมา) คำถามคือ ทำไมเศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ดีกว่าเศรษฐกิจโลก เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าจีดีพีไทยจะขยายตัว 3.6% ในปี 2023 และ 3.8% ในปี 2024
เหตุผลหนึ่งคือ การที่เศรษฐกิจไทยตกต่ำอย่างรุนแรงในช่วงการระบาดของโควิด-19 กล่าวคือในปี 2020 จีดีพีโลกติดลบ 3.1% แต่เศรษฐกิจไทยติดลบ 6.1% และปี 2021 ที่จีดีพีโลกฟื้นตัวและเพิ่มขึ้น 6.0% แต่จีดีพีไทยเพิ่มขึ้นเพียง 1.5%
แม้แต่ปี 2022 ที่จีดีพีโลกเพิ่มขึ้น 3.1% จีดีพีไทยก็ขยายตัวได้เพียง 2.6% กล่าวคือ ไทยอาจฟื้นตัวได้ดีกว่าเศรษฐกิจโลก เพราะเศรษฐกิจไทยตกต่ำลึกลงกว่าเศรษฐกิจโลกมาก กล่าวคือ เป็นเรื่องของ catch-up recovery.
แล้วจะฟื้นตัวให้ได้ดีกว่าเศรษฐกิจโลกอย่างไร? คำตอบคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและการท่องเที่ยว แต่เราทราบกันดีว่า เศรษฐกิจจีนนั้นฟื้นตัวได้ไม่รวดเร็วหรือแข็งแรงดังที่ได้คาดหวังกันเอาไว้ด้วยสาเหตุหลายประการ (ซึ่งผมจะขออธิบายถึงในโอกาสหน้า)
สำหรับการท่องเที่ยวนั้น ต้องบอกว่า เป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาอย่างต่อเนื่องในช่วงอย่างน้อย 15 ปีที่ผ่านมา เช่น ในช่วง 5 ปีก่อนการระบาดของโควิดนั้น จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 25 ล้านคนในปี 2015 มาเป็น 40 ล้านคนในปี 2019 คิดเป็นการขยายตัวเฉลี่ยมากถึง 10% ต่อปี
ในขณะที่จีดีพีไทยขยายตัวเพียง 3% ต่อปี แปลว่า หากการท่องเที่ยวไม่ได้ขยายตัวเช่นที่ผ่ามมา จีดีพีของไทยก็คงจะขยายตัวได้น้อยกว่า 3% ต่อปี
หากจะวิเคราะห์ในเชิงลึกลงไปอีกก็จะเห็นว่า ในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 นั้น การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย พึ่งพาการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นปัจจัยหลักคือ ในช่วง 2014-2020 นั้น
1.ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเฉลี่ยปีละ 30,000 ล้านเหรียญต่อปี หรือประมาณ 6-8% ของจีดีพี กล่าวคือ น่าจะเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนจีดีพีของไทยเกือบทั้งหมด การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดนั้น แปลว่ากำลังซื้อในประเทศไทยโตช้า จึงต้องขายสินค้าและบริการให้ต่างชาติเป็นหลัก
2.แต่ในช่วงเดียวกัน เงินทุนไหลออกทุกๆ ปี เฉลี่ยเงินไหลออกสุทธิ ปีละเกือบ 20,000 ล้านเหรียญ จึงยังมีส่วนเกิน ทำให้ทุนสำรองของไทยเพิ่มขึ้นจาก 180,000 ล้านเหรียญในปี 2014 มาถึงจุดสูงสุดในปี 2020 ที่ 286,000 ล้านเหรียญ ช่วยให้เงินบาทแข็งค่า และเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับต่ำอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
แต่ประเด็นสำคัญสำหรับอนาคตอีก 5-10 ปีข้างหน้าคือ เราจะสามารถทำเช่นเดิม (คือเกินดุลบัญชีเดินสะพัดปีละ 30,000 ล้านเหรียญ) ได้หรือไม่
ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 10,600 ล้านเหรียญในปี 2021 และอีก 14,700 ล้านเหรียญในปี 2022 แต่สถานการณ์ดีขึ้นในครึ่งแรกของปีนี้
คือเกินดุล 1,600 ล้านเหรียญ แต่ประเทศไทยขาดดุลบัญชีดุลชำระเงิน (Balance of Payments) ต่อเนื่องในช่วงหลังนี้ (เงินทุนยังไหลออก) เห็นได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่ลดลงจากจุดสูงสุดที่ 286,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020 มาเป็น 252,000 ล้านเหรียญสหรัฐในเดือนกรกฎาคม 2023 (รวม Forward Position คือ Net Reserve)
ในยุคที่โลกเข้าสู่ภาวะที่ดอกเบี้ยอาจอยู่ที่ระดับสูงต่อเนื่องยาวนานกว่าที่คาด เพราะประเทศพัฒนาแล้วยังต้องพยายามปราบเงินเฟ้อให้ราบคาบ ก็เพิ่มความเสี่ยงที่จีดีพีของประเทศกลุ่มนี้ จะขยายตัวช้าลง (OECD ประเมินว่าจีดีพีของประเทศสมาชิกจะขยายตัวเพียง 1.4% ในปี 2023 และ 2024)
พร้อมกันนี้ เศรษฐกิจจีนก็ฟื้นตัวต่ำกว่าคาด และมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (deflation) เรื่องนี้ไม่ใช่พูดกันเล่นๆ
เพราะเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม หนังสือพิมพ์ Financial Times (FT) รายงานข่าวมีหัวข้อว่า “Chinese Economists told not to be negative as rebound falters”
เนื้อข่าวคือ นักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นที่นับถือ (well-regarded economists) 7 คน บอกกับ FT ว่าถูกนายจ้างสั่งว่า ห้ามพูดถึงบางเรื่อง โฆษกของสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนกล่าวว่า “Deflation does not and will not exist in China” นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งบอกว่า “As the entire market is aware there is no such thing as deflation in China…We could talk (only) about low inflation”
ประเทศที่ประสบภาวะเงินฝืดที่รุนแรงที่สุดประเทศหนึ่งคือ ญี่ปุ่น ผลคือจีดีพีของญี่ปุ่นในปี 1993 เท่ากับ 4.45 ล้านล้านเหรียญ และอีก 30 ปีต่อมาในปี 2022 ก็ยังอยู่ที่ 4.23 ล้านล้านเหรียญ (ที่มา World Bank)
แต่จีดีพีจีนสูงกว่า คือ 18 ล้านล้านเหรียญในปี 2022 ดังนั้น หากเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ก็จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อ่อนแรงลงอย่างมาก ไอเอ็มเอฟคาดหวังเอาไว้ว่าใน 5 ปีข้างหน้า การขยายตัวของจีดีพีจีนจะขับเคลื่อน 22.6% ของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกทั้งหมด
สำหรับไทยนั้นก็พึ่งพาเศรษฐกิจจีนอย่างมากในหลายมิติดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วครับ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ |
เศรษฐศาสตร์ + สุขภาพ
Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์