เคยสงสัยกันไหมว่าราคาทองคำเนี่ยใครเป็นคนกำหนดกันแน่ ซึ่งโดยปกติแล้วเวลาเราซื้อหรือขายทองจะเห็นว่าร้านส่วนใหญ่ก็จะติดราคาซื้อขายไว้ภายในร้านเลย แล้วใครละเป็นคนกำหนดราคาพวกนี้ เดี๋ยววันนี้เรามาดูกันครับ
สำหรับการกำหนดราคาทองของประเทศไทยนั้นทาง สมาคมค้าทองคำ (Gold Traders Association) จะเป็นผู้กำหนดราคาทองคำแท่ง และทองรูปพรรณในทุก ๆ เช้าเวลาประมาณ 9.30-9.50 เพื่อให้ร้านค้าทั่วไปนำราคานี้ไปใช้เป็นเกณฑ์ในการตั้งราคาซื้อขาย โดยมีคณะกรรมการควบคุมราคาทองของสมาคมค้าทองคำเป็นผู้คอยกำกับดูแลตลอดช่วงเวลาการซื้อขาย โดยใช้การพิจารณาหลาย ๆ อย่าง และยึดถือหลักประชาธิปไตย ถือเสียงส่วนมาก 3 ใน 5 เสียงในการตัดสินใจ ซึ่งคณะกรรมการที่กำหนดราคานี้ประกอบไปด้วยผู้แทนจาก
- ห้างทองจินฮั้วเฮง
- ห้างทองแต้จิบฮุย
- ห้างทองเลี่ยงเส็งเฮงพาณิชย์
- ห้างทองฮั่วเซ่งเฮง
- ห้างทองหลูชั้งฮวด
สารบัญบทความ
ราคาทองคำในประเทศไทยถูกกำหนดด้วยตัวแปรที่สำคัญ 4 ประการคือ
1. ราคาทองต่างประเทศ (Gold spot)
2. อัตราค่า Premium (ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการนำเข้า/ส่งออกทองคำ)
3. ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
4. Demand และ Supply ของทองคำภายในประเทศ
Gold Spot คือราคาทองจากต่างประเทศ ซึ่งจะมีหน่วยเป็นเงินดอลล่าร์ ราคาทองจะวิ่งขึ้นลงตลอดทั้งวัน 24 ชั่วโมง โดยมีแรงซื้อขายจากตลาดทั่วโลก กราฟราคาทองตัวนี้จึงมีความจำเป็นสำหรับนักลงทุน ในการดูทิศทางราคาทองคำ อีกส่วนหนึ่งคือ USD – THB คือ ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลล่าร์ ราคาทองใช้เงินสกุลดอลล่าร์เป็นหลัก เมื่อจะแปลงราคามาเป็นราคาในเมืองไทย จึงต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลล่าร์ มาตีเป็นราคาซื้อขาย
สูตรในการคำนวนราคาทองในประเทศไทย
ราคาทองไทย = (( Spot Gold + Premium ) x 32.148 x THB x .965 )/65.6
*ค่า Premium เป็นค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งซึ่งจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อ/ขาย
และสภาวะตลาด ณ ขณะนั้นครับ
ปัจจัยที่กำหนดราคาทองในตลาดโลก
ราคาทองคำในตลาดโลกก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญด้วยเช่นกัน โดยจะมีประมาน 5 ปัจจัยด้วยกันคือ
1.ค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ : หากค่าเงิน USD ของสหรัฐฯมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ธนาคารกลางต่าง ๆ จะกระจายความเสี่ยงไปลงทุนสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น สกุลเงินอื่น หรือทองคำ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาทองมีการปรับตัวที่สูงขึ้น
2. อัตราเงินเฟ้อ : ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าและมีจำนวนจำกัดทำให้จัดได้ว่ามีผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อ เมื่อไหร่ที่เริ่มมีความกังวนว่าเงินเฟ้อจะมากขึ้น มักส่งผลดีต่อทองเช่นกัน
3. เรื่องของการเมืองระหว่างประเทศและระบบการเงิน : ราคาทองมักจะมีราคาที่สูงขึ้นหากมีความตึงเครียดของการเมืองระหว่างประเทศ และความไม่แน่นอนสูงในระบบการเงินโลก
4. อุปสงค์และอุปทานในตลาด : อุปทานของทองคำหลัก ๆ แล้วจะมาจากผลผลิตของเหมืองแร่ธนาคารกลาง (แอฟริกาใต้เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ 14% ของปริมาณการผลิตทองทั่วโลกมาจากที่นี่เลย) ตามมาด้วยเศษทองคำเก่าที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ การขายจากหน่วยงานภาครัฐ และการขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงของผู้ผลิต และในส่วนของอุปสงค์ มีมาจากทั้งภาคเครื่องประดับ ภาคอุตสาหกรรมและการแพทย์ และภาคการลงทุน โดยส่วนใหญ่อุปสงค์ยังคงมาจากภาคเครื่องประดับซึ่งคิดเป็นประมาณ 68% ของอุปสงค์ทองคำทั้งหมด แต่ภาคการลงทุนตอนนี้ก็มาแรงเช่นกัน โดยมีความต้องการทองคำเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และยังช่วยสร้างสภาพคล่องให้กับตลาดทองคำเป็นอย่างมาก
5. ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ : ราคาทองคำในประเทศไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ อ่อนค่าลง เนื่องจากไทยเรานั้นไม่ได้ผลิตทองคำเอง จึงต้องนำเข้าทองคำจากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งตลาดทองคำโดยทั่วไป มักจะใช้เงินสกุลเหรียญสหรัฐฯ ในการซื้อขาย อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและเงินเหรียญสหรัฐฯ จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อราคาในบ้านเรา
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก : tdcgold