ในบ้านเรา มีธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.ทำหน้าที่ดูและระบบการเงินของประเทศ…ถ้ามองไปยังประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ ก็จะมีธนาคารกลางสหรัฐ หรือเรียกสั้นๆ ว่า เฟด (Fed)
นอกจากนี้ เรายังมีคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการหลักของ ธปท.เพื่อรับผิดชอบในการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” (เรามักจะเห็นพาดหัวข่าวว่า กนง.มีมติคง/ขึ้น/ลดดอกเบี้ย) มีกรรมการ 7 คน มาจาก ธปท.3 คนและจากคนนอก 4 คน
เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ก็จะมีคณะกรรมการที่ดูแลนโยบายการเงิน เรียกสั้นๆ ว่า FOMC มีคณะกรรมการระบบธนาคารกลาง 12 คน ประกอบไปด้วยประธานเฟดจากแต่ละเมือง เช่น ปธ.เฟดสาขาชิคาโก, สาขาแอตแลนต้า, สาขาซานฟรานซิสโก และ ปธ.เฟดสาขาเซนต์หลุยส์ เป็นต้น
กรรมการชุดนี้คือกลุ่มคนที่ “ชี้เป็นชี้ตาย” นโยบายการเงินของประเทศ และถ้าเป็น กนง. ของไทยนโยบายจะกระทบเฉพาะในไทย แต่บังเอิญนี่คือสหรัฐซึ่งเป็นเบอร์ 1 ของโลก ดังนั้น นโยบายทางการเงินที่ออกมาจาก FOMC จะไม่ได้มีผลแค่ต่อสหรัฐ แต่หมายถึงผลกระทบที่มีต่อประเทศอื่นๆ ทั่วโลกด้วย
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ ทั่วโลกเผชิญกับ “วิกฤตโควิด-19” หลายประเทศใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจให้อยู่รอด คำว่า “ผ่อนคลาย” หมายถึงการ การที่ธนาคารกลางคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำเพื่อกระตุ้นให้เอกชนกู้เงินไปขยายการลงทุน นำไปสู่การหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจและจีดีพีขยายตัว แต่ก็แลกกับเงินเฟ้อที่จะตามมา
เมื่อไหร่ก็ตามที่เศรษฐกิจเติบโต โดยธรรมชาติจะตามด้วยอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ธนาคารกลางจะใช้การ “ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย” เป็น “เครื่องมือ” สกัดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้อย่างมีเสถียรภาพ
ซึ่งการ “ชี้เป็นชี้ตายทิศทางเศรษฐกิจ” ของ FOMC ที่กระทำผ่านนโยบาย “ปรับขึ้นดอกเบี้ย/คงดอกเบี้ย/ลดดอกเบี้ย” นั้นจะเกิดขึ้นปีละ 8 ครั้ง
เฟดมีกำหนดการประชุม 8 ครั้งในปีนี้ ที่นักลงทุนต้องจับตา
ครั้งที่ 1-มกราคม (วันที่ 25-26)
ครั้งที่ 2-มีนาคม (วันที่ 15-16)
ครั้งที่ 3-พฤษภาคม (วันที่ 3-4)
ครั้งที่ 4-มิถุนายน (วันที่ 14-15)
ครั้งที่ 5-กรกฎาคม (วันที่ 26-27)
ครั้งที่ 6-กันยายน (วันที่ 20-21)
ครั้งที่ 7-พฤศจิกายน (วันที่ 1-2)
ครั้งที่ 8- ธันวาคม (วันที่ 13-14)
ทำไม เฟด ถึงมีอิทธิพลต่อตลาดคริปโท?
เฟด ไม่สามารถจะไปควบคุมตลาดคริปโทได้ เค้าเพียงแค่ดำเนินนโยบายของตัวเองไป แต่ด้วยความที่โลกนี้เศรษฐกิจ การเงิน การลงทุนมันเชื่อมถึงกันหมด เงินไหลออกจากตลาดหนึ่งก็ไปเข้าอีกตลาดหนึ่ง เช่น ออกจากตลาดหุ้นก็ไปตลาดคริปโท ออกจากตลาดคริปโทก็ไปเข้าตลาดตราสารหนี้ วนเวียนกันอยู่อย่างนี้เพื่อวิ่งหาผลตอบแทนที่ดีที่สุด
ทำให้ทุกการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยของเฟด โดยคณะกรรมการ FOMC จะผลกระทบต่อตลาดคริปโทเคอรืเรนซีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มากก็น้อย
เราในฐานะนักลงทุน จึงควรเฝ้าติดตามว่า “ก่อนการประชุม” ในแต่ละรอบตลาดคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยเฟดยังไง และ “หลังการประชุม” ผลที่ออกมาสอดคล้องหรือผิดไปจากที่ตลาดคาดไว้หรือไม่จะได้นำไปวิเคราะห์และทำการบ้านต่อเพื่อวางกลยุทธ์ของตัวเอง
อย่างเช่นช่วงต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เฟด ได้เผยแพร่รายงานการประชุม FOMC (ของเดือน ธ.ค.ซึ่งประชุมจบไปแล้ว แต่เอารายละเอียดมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนตามหลังในรูปของเปเปอร์) ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ (ยังไม่ขึ้นจริง) ปรากฎว่าในวันนั้นทั้งตลาดหุ้นและตลาดคริปโทต่างก็ร่วงหนักผิดปกติ
แม้ว่าในทางหนึ่ง “เงินเฟ้อยิ่งสูง” จะยิ่งดีกับตลาดคริปโทเคอร์เรนซี โดยเฉพาะกับ Bitcoin เพราะนักลงทุนจะหันมาถือครองมากขึ้น (หลังๆ นักลงทุนสถาบันเก็บเข้าพอร์ตมากขึ้นรวมถึง Tesla ที่เริ่มเก็บเมื่อปีที่แล้ว) เพราะมองว่าป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อได้ดีกว่าการถือเงิน Fiat
อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์เงินเฟ้อพุ่งสูงมาก กระทั่งนำไปสู่การปรับขึ้นดอกเบี้ย มันย่อมจะเป็นลบต่อตลาดสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งรวมถึงตลาดคริปโทด้วย ดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมานี้เอง
การประชุมนัดแรกและนัดสำคัญของเฟดประจำปี 2565 ในวันที่ 25-26 มกราคมนี้ทั่วโลกจึงจับตา!! เพราะจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมายาวนานบวกกับการ “อัดยาแรง” ด้วยการพิมพ์เงินเพิ่ม (QE) มันกำลังย้อนศรด้วยเงินเฟ้อพุ่งสูงในรอบ 40 ปีเลยทีเดียว
นโยบายเฟดจึง “กำลังจะกลับทิศ”! เพราะกำลังจะดึงเงินกลับด้วยการลด QE และลดขนาดงบดุล เรียกได้ว่า “เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางเศรษฐกิจ”จากการส่งสัญญาณของประธานเฟดสาขาต่างๆ ส่วนใหญ่ก็ “สนับสนุน” ให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย “ในการประชุมเดือนมีนาคมนี้”
ค่ายต่างประเทศอย่าง “โกลแมนแซคส์” คาดการณ์ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยถึง 4 ครั้งในปีนี้ (จากตลาดคาดจะขึ้น 3 ครั้ง) ซึ่งในวันที่มีข่าวนี้ออกมาจากโกลแมนแซคส์ ปรากฎว่าทั้งตลาดหุ้นและตลาดคริปโทตอบรับเป็นสีแดงทั้งกระดาน
ค่ายวิจัยในไทยอย่าง “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คาดการณ์ว่าการประชุม FOMC วันที่ 25-26 ม.ค.นี้ เฟดจะยังไม่ส่งสัญญาณอะไรเพิ่มเติม นอกเหนือจากการเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือน มี.ค. ตามที่ได้ส่งสัญญาณไปแล้วก่อนหน้านี้และตลาดต่างก็รับรู้ไปแล้ว
โดยสรุปทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ “นักลงทุน” ในตลาดทั้งหลายต้องระมัดระวังและจดวันประชุมสำคัญระดับโลกนี้เอาไว้ อย่างน้อยเราจะได้ปรับแผนการลงทุนได้ทันท่วงที
มาลุ้นกันว่าประชุมนัดแรกของปีนี้ เฟดจะยังคงดอกเบี้ย 0.00-0.25% ตามที่ตลาดคาดหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น ตลาดหุ้นและตลาดคริปโทคงไม่แพนิก มาก…เว้นแต่เฟดจะ “หักปากกาเซียน”
`เฟด` คือใคร? ทำไมถึงมีอิทธิพลต่อตลาดคริปโท จับตาประชุม 8นัดสำคัญปีนี้
REVIEW OVERVIEW
[td_block_1 custom_title="Review Brokers" limit="4" f_header_font_transform="uppercase" ajax_pagination="next_prev" m4_el="10" category_id="101" sort="oldest_posts"][td_block_1 custom_title="Last Post" limit="4" f_header_font_transform="uppercase" ajax_pagination="next_prev" m4_el="10"]